วันนี้ (31 มี.ค.) ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เป็นสักขีพยานในการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนตามพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นประธานในการเปิดตัวกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และได้จัดตั้งคณะกรรมการภาครัฐ และเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ public private steering committee ขึ้น โดยมีคณะกรรมการบริหาร และคณะทำงานร่วมรัฐเอกชนประชาชน หรือประชารัฐ 12 คณะ คณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ หรือ E3 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตเข้าร่วม
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวว่า คณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เดินหน้าเต็มกำลัง ผนึกกำลังภาครัฐบาล กำหนดเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน ดำเนินการในการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้ชุมชนเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน เมล็ดพันธุ์ พัฒนาการบริหารจัดการ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ในชุมชน ช่วยหาช่องทางการตลาด และส่งเสริมให้มีการรับรู้ส่งข้อมูลข่าวสารสำคัญอย่างต่อเนื่อง และมุ่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางใน 3 เรื่อง ได้แก่ การเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน
การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประช่ารัฐ : บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ภูเก็ต จำกัด
โดยการดำเนินการในระยะที่ 1 จะเริ่มจาก 5 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนี้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้เป็นแห่งแรก เพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมด้านผลผลิตทางด้านการเกษตรที่โดดเด่นเฉพาะตัว มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงต่อการท่องเที่ยว และมีรากฐานการผลิตใหญ่เชื่อมโยงตจ่อกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เช่น การพัฒนาธุรกิจผักปลอดสารพิษ พัฒนาธุรกิจนม แพะพัฒนาธุรกิจกุ้งมังกร และพัฒนาธุรกิจผ้าบาติก เป็นต้น
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวว่า กิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หรือ SE ภูเก็ต ว่า จุดมุ่งหมายในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ คือ การเสริมสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน และชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ซึ่งภายหลังได้มอบภารกิจจากรัฐบาลคณะทำงานก็ได้กำหนดการดำเนินงานโดยมีกรอบการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์พระราชทาน “ระเบิดจากข้างใน” ที่ยึดปัญหาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง มีการดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือประชารัฐ เน้นการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมที่เป็น Action Agendaใน 3 ประเด็นหลัก คือ ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยยึดความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้งพัฒนา คุณภาพคน เน้นสร้างองค์ความรู้ในระดับชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เงิน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และมีช่องทาง หรือ Platform สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดภูเก็ต จะเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของพี่น้องชาวภูเก็ตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สามารถระดมความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่มาร่วมกันพัฒนา และแก้ไขปัญหาของประชาชน และร่วมกันสร้างสรรค์พลังแห่งความดีเพื่อให้จังหวัดภูเก็ตมีความเจริญเติบโต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสมดุล มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เหมาะสม และมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางบริบท และสถานการณ์สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และจะเป็นการจุดประกายให้จังหวัดอื่นได้เห็นว่าพลังประชารัฐนั้นยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญมาก เป็นพลังแห่งความดีที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทุ่มเทสรรพกำลัง และตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างจริงจังอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของทั้งประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป
http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000033216
No comments:
Post a Comment