Tuesday 19 August 2014

โครงการสัมมนาการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบโดยทุนชุมชนSufficient economic village by community fund.


เพื่อนประสงค์จะมีครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียง และมุ่งขยายผลกันต่อไป

Sufficient  economic village  across the countries..from CDD Thailand.



www.mahadthai.com/html/king_economy/kingtheory-mt1.htm

18 Aug 14 PowerPoint โครงการสัมมนาการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบโดยทุนชุมชน ระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กทม.
            
Attachment :: ผอ.สำนัก วันที่ 13.pptเวทีเสวนา.ppt (กดปุ่มขวาของ mouse ที่ชื่อ file, หากต้องการพิมพ์หรือ save file)
Posted By :  นางสาวจันทนา ตั้งศักดิ์เจริญสุข  [สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน] - 19 Aug 14 14:44
เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชุมชน
                                                                                      
                                นโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน จะต้องเน้นที่การแก้ไขในลักษณะอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ไขแบบไม่ยากจนแล้วกลับมายากจนใหม่อีก ซึ่งเมื่อเราย้อนไปศึกษาดูในรายละเอียดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทาน มาให้พี่น้องประชาชนชาวไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว จะเห็นว่าเป็นหลักการที่นำมาแก้ปัญหาความยากจนได้เป็นอย่างดียิ่ง กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินกิจกรรมกระจายผลแนวคิดดังกล่าวไป  ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมรายชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการปฏิบัติตนตามปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปี 2549 เป็นปีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เราจะนำไปขยายผลให้เห็นเด่นชัดทั้งประเทศ
                                จากการที่ผมไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ เห็นว่า การดำเนินการของแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการดำเนินการมาค่อนข้างที่จะยาวนาน และหลายหมู่บ้านมีการพัฒนาไปก้าวไกล บางกลุ่มได้มีการพัฒนาไปก้าวไกลมากจากฐานของ LOCAL หรือท้องถิ่น เป็นระดับประเทศและไปทั่วโลก ก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์แล้ว แต่บางกลุ่มก็ยังทำอยู่ในระดับหมู่บ้าน สร้างความเข้มแข็งและมีความมั่นคงของตัวเองแล้ว พร้อมที่จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง ที่กล่าวคำว่า มั่งคั่ง หมายความว่า แต่ละหมู่บ้านสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน บางแห่งมีเงินทุนรวมกันแล้วนับเป็นร้อยล้านบาท ซึ่งแสดงว่ามีความมั่นคงและมั่งคั่งภายในชุมชน
                                เมื่อย้อนไปดูกระบวนการทำงานในคาราวานแก้จนเราได้รับทราบปัญหาว่า ยังมีพี่น้องประชาชนอีกบางกลุ่มที่ยังประสบปัญหาความยากจน มีความไม่พอเพียงในการดำรงชีพอีกเยอะ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องคิดว่าทำอย่างไร จะนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความยากจน ฉะนั้น ปี 2549 นี้ ในขั้นต้นกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้มีการสำรวจหมู่บ้านที่ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง แล้วยกหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น ๆ มาดูเป็นตัวอย่างและนำไปเผยแพร่ขยายผล โดยกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปี 2549 จะต้องทำให้ได้ 5,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ คือ หมู่บ้านไหนที่ยังไม่มีความพอเพียง ก็จะส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหา เพราะแต่ละหมู่บ้านมีปัญหาพื้นฐานไม่เหมือนกัน
                                จากนั้นเราก็จะนำแบบอย่างหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จแล้วเอามาทำเป็นตัวอย่างและใช้ขยายผลเป็นรูปแบบที่เห็นเด่นชัด เมื่อไปพิจารณาดูจะเห็นว่าแต่ละหมู่บ้านมีสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรบุคคล ทรัพย์สินในชุมชนจำนวนหนึ่ง แล้วทางราชการไปส่งเสริมให้พัฒนาขึ้นจากฐานเดิม คือ ใช้ระบบต่อยอด ซึ่งในปี 2549 นี้ จะทำ 5,000 หมู่บ้าน ปี 2550 จะทำเพิ่มขึ้นอีก 50% และปี 2551 จะทำให้ครบทั้งหมด         ทั่วประเทศ ซึ่งต่อไปเราจะสร้างแนวคิดความพอเพียงให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยในขั้นต้นนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้สำรวจหมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว
                                ในกระบวนการของเศรษฐกิจพอเพียงมีกระบวนการหลาย ๆ อย่าง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็มีแนวคิดแนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจพอเพียง ไปสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ประเทศชาติ เช่น ได้จัดทำโครงการวัดปลอดเหล้า รณรงค์ลด ละ เลิกอบายมุข ถ้าคนเราลดละเลิกอบายมุข ไม่ดื่มเหล้า ก็จะทำให้คนมีศีลธรรม ลดปัญหาทีละน้อย ๆ ได้ทั้งหมด เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย ปัญหาสังคมจะน้อยลง ฝ่ายปกครองจะต้องไปเข้มงวดสถานที่จำหน่ายเหล้าซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียน กวดขันมิให้สถานบันเทิงต่าง ๆ     ตั้งสถานที่ใกล้วัด ซึ่งจะต้องพยายามนำรูปแบบต่าง ๆ มาเผยแพร่ เพื่อนำสังคมไปสู่ความพอเพียง
                                ในกลุ่มสตรีก็ต้องปลูกฝังให้เขามีความพอเพียง เมื่อมีความพอเพียงแล้วก็สามารถเลี้ยงชุมชนได้ ตามคำขวัญที่ว่า ชุมชนพอเพียงเลี้ยงตำบล ตำบลพอเพียงเลี้ยงอำเภอ อำเภอพอเพียงเลี้ยงจังหวัด ซึ่งการทำเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่พอเพียงแล้วพอ แต่ชุมชนพอเพียงแล้วต้องมีความมั่นคงด้วย และสามารถต่อสู้แข่งขันกับโลกได้ด้วย เพราะโลกมีโลกาภิวัตน์พัฒนาอยู่ตลอด สังคมไทยมีความพอเพียงในตัวเอง ชาวนาทำนาเสร็จแล้ว รอบรั้วบ้านก็ยังปลูกผักกินได้ เลี้ยงไก่ไว้ในบ้าน เลี้ยงหมู บางหมู่บ้านก็มีการทอผ้า ตำข้าว มีโรงสีข้าว จะมีการพัฒนาเป็นโรงสีชุมชน ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ไม่มีการพัฒนา แต่จะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันด้วย
                                ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการดูแลตสเองได้ คือ ในกรณีเรื่องกองทุนหมู่บ้าน จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านทราบว่า ส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านมีความรู้สึกหวงแหนกองทุนของตัวเอง ซึ่งเงินกองทุนที่สมาชิกกู้ยืมจะมีหนี้สูญน้อยมาก สำหรับเงินโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน หรืองบฯ SML ที่รัฐบาลส่งเงินลงทุนไปให้หมู่บ้าน แล้วให้ชาวบ้านคิดกันเองว่าสมควรที่จะทำโครงการอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทย เพียงแต่แนะนำว่าให้ทำกิจกรรมที่สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสแก่คนในหมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะพยายามสร้างความร่วมมือให้ชุมชนเขาตรวจสอบกันเอง ถ้ามีปัญหาก็ให้เขาค้นหาปัญหาโดยมาพูดคุยกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไขกันเอง กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา  ข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องเท่านั้น



กระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
                  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหา-วิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม  2517 สรุปความได้ว่า การพัฒนาประเทศต้องทำตามลำดับ โดยสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้น ใช้วิธีการและอุปกรณ์แบบประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อมีพื้นฐานที่มั่นคงและปฏิบัติได้จริง จึงเสริมสร้างความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นสูงขึ้นโดยลำดับต่อไป ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการพระราชทานแนวทางพัฒนา แบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรก ต่อมาพระองค์ท่านได้ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต  ให้ประชาชนได้มาศึกษาเรียนรู้ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง  ก่อนนำไปประยุกต์ใช้กับตนเอง
                  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เป็นปรัชญาที่ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ  ตั้งแต่ระดับครอบครัว  ระดับชุมชน  จนถึงระดับประเทศ  ในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปบน ทางสายกลาง  ทั้งนี้  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย     3  คุณลักษณะ  คือ
                 ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดี  ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป  โดยไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น
                 ความมีเหตุผล  หมายถึง  การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง  ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุและผล  โดยคำนึงถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
                 การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  หมายถึง  เตรียมตัวให้พร้อมต่อการรองรับผลกระทบใด ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก 
โดยต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ 1. เงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบ คือ  นำวิชาการต่าง ๆ มาประกอบกันอย่างเหมาะสมรอบด้านในการวางแผนงาน  และ 2. เงื่อนไขคุณธรรม คือ ตระหนักในคุณธรรม  มีความซื่อสัตย์สุจริตและความพากเพียรในการดำเนินชีวิต
                  รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นยุทธศาสตร์ตามแผนบริหารราชการ 4 ปี  (พ.ศ. 2548  2551)  โดยถือว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนและสำคัญยิ่งของชาติ  ซึ่งทุกส่วนราชการได้น้อมนำมาเป็นยุทธศาสตร์พระราชทานในการทำสงครามกับความยากจน พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศนโยบายเน้นหนักเมื่อวันที่ 6 มกราคม  2549  มอบหมายให้ทุกจังหวัดผลักดันและขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกว้างขวาง  โดยภายในปี 2549 ตั้งเป้าหมาย จำนวน 5,000 หมู่บ้าน ปี 2550 ร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ  และภายในปี 2551 ครบทุกหมู่บ้าน สำหรับลักษณะกิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้  ประกอบด้วย 1. การลดรายจ่าย    2. การเพิ่มรายได้ 3. การออม 4. การดำรงชีวิตด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรม 5. การอนุรักษ์ทรัพยากร-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6. การเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
                  ทั้งนี้  กระทรวงมหาดไทย มีความเชื่อมั่นว่าประชาชนในหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ   มีการดำรงชีวิตบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว  ภาครัฐเพียงแต่ไปค้นหาหมู่บ้านต้นแบบ  แล้วนำไปขยายผล   ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน  จะสามารถผลักดันและขยายแนวคิดดังกล่าวไปยังหมู่บ้าน/ชุมชนอื่น   ที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ การทำงานเรื่องนี้ของชาวมหาดไทยจะมิใช่เป็นการไปสร้างวิธีการหรือกระบวนการพัฒนาชนบทขึ้นใหม่แต่อย่างใด
สรุปกรอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่กระทรวงมหาดไทย กำหนดไว้ ได้แก่
                 
1.       การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม  2549   โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมและผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นตัวแทนกลุ่มจังหวัด 19 กลุ่มจังหวัด เข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมมีการถ่ายทอดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร๊นซ์ไปยังทั้ง 75 จังหวัด 
                  2.  ค้นหาหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบ (In Search of Excellent) ในพื้นที่ 75 จังหวัด  ที่มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม และสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่หมู่บ้านอื่นได้ ซึ่งได้มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกย่องหมู่บ้านต้นแบบดังกล่าว   ทั้งมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด   เพื่อประโยชน์ในศึกษาดูงานขยายผลขงชุมชนอื่น ๆต่อไป
                  3.  กำหนดให้การขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดของทุกจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน  ในส่วนนี้กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ติดตามประเมินผลการทำงานของจังหวัดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายภารกิจให้      ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนทั้ง 12 เขต ทำหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมทางวิชาการในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะ
                  4.  การสร้างเครือข่ายพึ่งพากันเองในกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมทั้งให้มีการจัดลำดับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น  เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยในปลายปีงบประมาณ 2549 จะมีการสัมนาผู้เกี่ยวข้องใน 4 ภูมิภาค และจะจัดนิทรรศการแสดงผลงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 75 หมู่บ้านที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย
                  5.  เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงาน  พร้อมกับรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติไปยัง ราชเลขาธิการและคณะรัฐมนตรีรับทราบทุกระยะ
            กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริไปขยายผลทั่วประเทศอย่างจริงจัง เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัวพระราชทาน ให้พสกนิกรชาวไทยนี้ จะนำไปสู่เป้าหมายการแก้ไขความยากจนและปัญหาสังคมนานับประการ  ตลอดจนเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยแท้            












































                                                                                                        

No comments:

CDD Photo Album